รู้จักกับระบบ UCAS สำหรับการเข้าเรียนต่อปริญญาตรีที่อังกฤษ

มาทำความรู้จักกับระบบ UCAS

ในปัจจุบันมีเด็กนักเรียนไทยที่เดินทางไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษอยู่ไม่น้อย เนื่องจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไปเรียนปริญญาตรีที่อังกฤษนั้นใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี เท่านั้นกรณีจบการศึกษาระดับมัธยมในระบบ A Level หรือ IB มา

สำหรับระบบการสมัครเข้าเรียนต่อปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษนั้น ก็จะมีระบบกลางที่เรียกว่า Universities and Colleges Admissions Service หรือที่คนรู้จักในชื่อสั้นๆ ว่า UCAS ซึ่งวันนี้พี่เบสท์จะขอสรุปสิ่งสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับ UCAS กันดังนี้

1. Predicted Grade โดยปรกติแล้วการเริ่มกรอกใบสมัคร UCAS Application จะมี Deadline ที่แตกต่างกันตามแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย โดยหากเป็นคณะที่เข้ายากๆ เช่นหมอ ทันตะ รวมถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย Oxford หรือ Cambridge ก็จะมีเดดไลน์ในการสมัครประมาณเดือนตุลาคม

แต่หากเป็นการสมัครสอบทั่วไปสำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ จะมีเดดไลน์ประมาณวันที่ 15 มกราคม และอีกครั้งหนึ่งสำหรับนักเรียนที่เข้าเรียนในหลักสูตร Foundation ในรอบเดือนมกราคมโดยมีเดดไลน์คือ 24 March

ซึ่งจากเดดไลน์ทั้งสามวันนั้น ทางน้องๆ จะยังไม่ทราบผลคะแนน A Level ของตัวเอง ซึ่งจะออกประมาณวันที่ 15 สิงหาคม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ทางมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษจะใช้ในการพิจารณาก็คือ Predicted Grade จากทางโรงเรียนที่เราเรียนอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้การคาดเดาจากคะแนนสอบและการวัดความรู้ในแต่ละช่วงของ Year 12 และเทอม 1 ของ Year 13 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด Predicted Grade ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเกรดใน Year 12 ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ Predicted Grade ซึ่งมีผลต่อ Offer จากมหาวิทยาลัย

2. Offer โดยแบ่งออกเป็น Conditional หรือ Unconditional Offer ซึ่งหากเกรดของน้องๆ สูงกว่า Requirements ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดอยู่มาก ก็มีสิทธิ์ที่ทางมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษอาจจะออกเป็น Unconditional Offer ให้กับน้องๆ เลย โดยไม่ต้องรอดูผล A Level อย่างไรก็ตามนักเรียนส่วนมากมักจะได้ Offer ในรูปแบบของ Conditional Offer ซึ่งนั่นหมายความว่าน้องๆ จะต้องทำเกรด A Level ให้ได้ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดเงื่อนไขมา

3. จำนวนมหาวิทยาลัยที่สมัครได้ภายใต้ระบบ UCAS Application นั้น น้องๆ จะสามารถสมัครได้จำนวนสูงสุด 5 มหาวิทยาลัย โดยแนะนำว่าควรเลือกมหาวิทยาลัยที่มี Grade Requirements ที่แตกต่างกัน โดยน้องๆ สามารถดู Grade Requirements ของทางมหาวิทยาลัยได้จากเวบไซต์ของแต่ละคณะ ซึ่งหากน้องๆ ได้ Offer มาครบทั้ง 5 มหาวิทยาลัย น้องๆ จะต้องทำการตัดมหาวิทยาลัยให้เหลือเพียงแค่ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นการกันที่ของนักเรียนคนอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยแรกที่น้องเลือกจะเรียกว่าเป็น Firmed Choice และมหาวิทยาลัยสำรองจะเรียกว่าเป็น Insurance Choice

4. กรณีที่น้องๆ ถูกปฏิเสธทั้งหมด อาจจะต้องทำการทบทวนการเลือกมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้อย่างน้อยน้องๆ จำเป็นต้องมี Conditional offer ให้อยู่ในมือ

5. Confirmation กรณีที่เมื่อผลคะแนน A Level ออกแล้ว และสามารถทำคะแนนได้ถึงตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย น้องๆ ก็สามารถตอบรับเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้เลย แต่กรณีที่ไม่ได้ Firmed Choice ก็อาจจะพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขของ Insurance Choice หรือไม่ ถ้าได้ก็สามารถยืนยันได้

6. Adjustment สำหรับน้องๆ ที่อาจทำคะแนนได้ดีกว่าที่คาดไว้ และมีสิทธิ์ที่จะเข้าในมหาวิทยาลัยที่ดีกว่า Firmed Choice ที่มีอยู่ในมือ น้องๆ ก็สามารถร้องขอในการ Adjustment เปลี่ยนมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน

7. Clearing ในทางกลับกัน หากน้องๆ ไม่สามารถที่จะทำเกรดได้ตาม Conditional Offer ที่ได้จากทั้ง Firmed Choice และ Insurance Choice สิ่งแรกที่น้องควรทำคือเมลล์ไปสอบถามมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษว่าเราไม่สามารถที่จะทำได้ถึง Conditions ที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการ โดยหากเกรดไม่ได้ต่างมากนักในคณะและมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันไม่สูงมากนัก ทางมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษก็อาจจะยอมในการรับน้องๆ เข้าเรียนได้เลย

อย่างไรก็ตาม หากเกรดที่ได้ค่อนข้างห่างจาก Conditions ที่มหาวิทยาลัยกำหนด น้องๆ ก็จะต้องทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีมหาวิทยาลัยใดมีที่นั่งในคณะที่เราต้องการหรือไม่ และเกรดที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดนั้นใกล้เคียงกับเกรดจริงของเราหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถโทรไปติดต่อเพื่อขอทำ Clearing เข้ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้เลย

สำหรับน้องๆ ที่สนใจไปเรียนต่อปริญญาตรีในประเทศอังกฤษ โดยจบการศึกษาในระบบมัธยมศึกษาในประเทศไทย ก็สามารถติดต่อกับพี่เบสท์ได้ที่เบอร์ 062-656-5996 เพื่อทำการวางแผนการเรียน โดยสามารถไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษได้โดยการเรียนในหลักสูตรที่เรียกว่า University Foundation